ซีพียู (CPU)
ใครเคยเรียนคอมพิวเตอร์มาบ้างทราบกันดีว่าซีพียูคือหัวใจของคอมพิวเตอร์ที่มีความสำคัญที่สุด เนื่องจากการประมวลผลหลักจะเกิดขึ้นที่ส่วนนี้ ซีพียูมีหลากหลายความเร็วและหลากหลายราคา โดยซีพียูปัจจุบันมีสองเจ้าหลักที่ทำการแข่งขันมาโดยตลอดคือ Intel และ AMD
โดยปัจจุบัน AMD มีการแบ่งซีพียูของตัวเองออกดังนี้ (เอาเฉพาะรุ่นที่มีขายกันเยอะ ๆ ในไทย)
Sempron – ตระกูลน้องเล็กที่สุด เน้นสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ราคาถูกและเมนบอร์ดขนาดเล็กอย่าง Socket AM1
Athlon – ตระกูลระดับกลาง ใช้งานกับเมนบอร์ดขนาดเล็กอย่าง Socket AM1 เช่นเดียวกัน
FX – เป็นตระกูลหลักของซีพียูแบบคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะของ AMD เน้นการทำงานหรือเล่นเกมที่ต้องใช้ประสิทธิภาพสูง
A6, A8, A10 – เป็น APU (Accelerated Processing Unit) ซึ่งถือว่าเป็นซีพียูอีกแบบที่มีการรวมหน่วยประมวลผลกราฟิก (การ์ดจอ) ไว้ในตัวชิปด้วยและเป็นสถาปัตย์แบบใหม่จากทาง AMD และระยะหลังทาง AMD เหมือนจะหันมาทำ APU มากขึ้น ในเรื่องประสิทธิภาพแล้วถือว่ายังเป็นรองตระกูล FX แต่ข้อดีคือประสิทธิภาพด้านการเล่นเกมและกราฟิกที่คุ้มค่าต่อราคา (APU ตระกูล A10 ซึ่งเป็นรุ่นระดับบนสุดถือว่าเล่นเกมได้ไม่เลวเลยทีเดียว) เหมาะกับคนที่อยากเล่นเกมได้สักระดับนึง แต่ไม่อยากลงทุนซื้อการ์ดจอแยก เพราะการ์ดจอออนบอร์ดที่ติดมากับ APU นั้นถือว่ามีความเร็วในระดับที่ไม่ขี้เหร่เลยละ
ส่วนฝั่ง Intel นั้นจะมีตระกูลหลักก็คือ Core i3, i5, i7 ซึ่งเป็นการเรียงประสิทธิภาพจากรุ่นระดับล่าง กลาง และสูงเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังมีซีพียูในชื่อ Pentium อยู่บ้างซึ่งถือว่าเป็นรุ่นเล็กที่สุด (เอาไว้พิมพ์งานว่างั้น)
คำถามสุดท้ายคือยี่ห้ออะไร รุ่นไหนดี ? มองการใช้งานและงบประมาณเป็นสำคัญ หากคุณใช้งานปกติ พิมพ์งานเอกสาร กราฟิกนิดหน่อยและงบไม่เยอะมากนัก การใช้ซีพียูตระกูลรุ่นเล็กอย่าง Sempron, Athlon จาก AMD หรือ Pentium, i3 จาก Intel ก็ดูจะเพียงพอแล้วซึ่งราคาไม่แพง
แต่หากอยากได้เพื่อเล่นเกมหรือทำงานที่หนักหน่วงกว่านั้น เช่น ตัดต่อกราฟิกภาพใหญ่ ๆ ทำงานด้านวิดีโอ การพิจารณาเลือกใช้ซีพียูระดับบนในตระกูล FX จาก AMD หรือ i5, i7 จาก Intel จะเป็นตัวเลือกที่เหมาะ โดยเฉพาะหากมีการทำงานที่มีความซับซ้อนเช่นทำวิดีโอ หรือปั้นโมเดลสามมิติ การเลือกซีพียูระดับบนสุดจะเห็นผลชัดเจนมาก แต่หากนำมาเพื่อเล่นเกม อาจจะไม่จำเป็นต้องซื้อซีพียูในราคาที่สูงระดับนั้นก็ได้ (AMD ใช้ตระกูล FX-8xxx หรือ Intel Core i5 ก็เพียงพอแล้ว)
หากดูสเปคสิ่งที่ควรทราบไว้บ้างก็ได้แก่ ประเภท Socket เช่น AM3+, LGA 1150 ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกว่าซีพียูจะเสียบลงกับเมนบอร์ดแบบไหน (หากซื้อเมนบอร์ดไม่ตรงก็เสียบไม่ได้นะจ๊ะ) ความเร็วปกติ หน่วยเป็น GHz และความเร็วแบบ Turbo ที่หน่วยจะเป็น GHz เช่นกันโดยจะสูงกว่าแบบปกติและจะปรับขึ้นเมื่อใช้งานหนัก และแคช ซึ่งเป็นหน่วยความจำชั่วคราวบนซีพียู ตัวนี้มีหน่วยเป็น MB ว่ากันง่าย ๆ คือยิ่งมาก ก็จะช่วยให้ซีพียูทำงานได้สะดวกรวดเร็วขึ้น (และราคาก็สูงตามไปด้วย)
เลือกของให้เหมาะกับการใช้งาน และอยู่ในงบของตัวเอง
เมนบอร์ด (Mainboard)
ซีพียูนั้นตัวเลือกไม่มากนักหากเทียบกับเมนบอร์ดที่มีให้เลือกกันเพียบ เมนบอร์ดเป็นเหมือนแผงวงจรหลักที่อุปกรณ์ทั้งหมดจะเสียบลงไป ฉะนั้นอันดับแรกคือต้องเลือก Socket ให้ตรงกับซีพียูที่ซื้อหรือเลือกไว้ เช่นหากซื้อซีพียูแบบ LGA 1150 ก็ต้องซื้อเมนบอร์ดที่เป็น Socket LGA 1150 เป็นต้นเพื่อที่จะใส่ด้วยกันได้ ส่วนเรื่องรุ่นไหนรองรับซีพียูรุ่นไหนได้บ้างหรือไม่ ปัจจุบันไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไรนัก (เลือกให้ตรง socket ก็มั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าจะสามารถใช้งานกับซีพียูที่ซื้อมาได้ แต่ก็ควรเช็คเพิ่มเติมเพื่อความมั่นใจ) ที่เหลือก็จะเป็นเรื่องคุณสมบัติที่เมนบอร์ดมาให้ได้แก่ พอร์ตสำหรับเสียบการ์ดจอ (PCI-E) หรือพอร์ตแบบPCIปกติว่ามีกี่พอร์ต นอกจากนี้จะยังมีเรื่องของสล็อตแรม ปัจจุบันส่วนใหญ่มีให้ 4 ช่องสำหรับเมนบอร์ดทั่ว ๆ ไปและ 2 ช่องสำหรับเมนบอร์ดแพลทฟอร์มเล็ก นอกจากนี้เมนบอร์ดบางตัวอาจติดลูกเล่นอย่างสามารถรับสัญญาณ Wi-Fi หรือส่ง Bluetooth ได้ก็มีแต่ราคาก็จะสูงตามไปด้วย
โดยสิ่งที่เมนบอร์ดราคาสูง ๆ นั้นจะแตกต่างจากเมนบอร์ดราคาทั่วไปนั้นก็ได้แก่ รูปร่างและการจัดวาง layout (ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลต่อราคา) ลูกเล่นพิเศษ หรือวัสดุในภาคจ่ายไฟที่ใช้ที่รองรับการใช้งานแบบหนักหน่วง ที่ผมกล่าวถึงคำว่าหนักหน่วงนี่คือหนักจริง ๆ เช่นใช้การ์ดจอพร้อมกันหลายตัว หรือสำหรับนักโอเวอร์คล็อคที่ปรับแรงดันไฟขึ้นไปมากกว่าปกติ ซึ่งบุคคลทั่วไปนั้นเมนบอร์ดในระดับราคา 2500-4500 บาทถือว่าเหมาะสมดีแล้ว ส่วนยี่ห้อไหนจะถูกใจใครนั้นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ส่วนตัวผมชอบยี่ห้อ ASUS ซึ่งเป็นเจ้าที่ทำเมนบอร์ดคุณภาพออกมาได้คงเส้นคงว่าและหน้าตาถูกโฉลก
แรม (RAM)
แม้ว่าตอนนี้แรมแบบ DDR4 จะเริ่มเข้ามามีบทบาทบ้างแล้วในวงการคอมพิวเตอร์ระดับบน ๆ แต่ปัจจุบันราคายังถือว่าแพงมากและหาคนที่จะซื้อมาใช้งานนั้นน้อยอยู่ในตอนนี้ ฉะนั้นตอนนี้แรมแบบ DDR3 ยังเป็นพระเอกไปได้อีกอย่างน้อยก็สักสองหรือสามปีจนกว่า DDR4 ราคาจะถูกลงจนคนทั่วไปสามารถซื้อกันได้ สำหรับการเลือกแรมนั้นจะมีสองส่วนที่ควรพิจารณา ได้แก่บัสหรือความเร็วของแรม จะมีตั้งแต่ 1600, 1866 หรือ 2400 MHz สำหรับ DDR3 ซึ่งบัสที่สูงขึ้นก็แลกมาด้วยราคาที่สูงตามไปด้วย ซึ่งแรมที่มีค่า MHz สูง ๆ ก็เหมาะกับการใช้งานงานที่ต้องการถ่ายโอนข้อมูลจำนวนมากระหว่างแรมเช่นงานตัดต่อวิดีโอ งานด้านกราฟิก แต่หากจะว่าจริง ๆ ในการใช้งานปกตินั้นไม่เห็นผลมากนัก ฉะนั้นเลือกเอาตามที่ชอบและเมนบอร์ดของตัวเองรองรับก็แล้วกัน
อีกค่าหนึ่งที่น่าสนใจคือ CAS Latency (CL) ที่หากเราดูสเปคแรมดี ๆ จะเห็นตัวเลขเป็นชุด ๆ เช่น 9-9-9-24 ชุดเลขนี้สรุปแบบกำปั้นทุบดินได้ว่า ยิ่งต่ำยิ่งดี แรมที่มีค่า MHz สูง ๆ มีแนวโน้มที่ค่า CL จะสูงตามไปด้วย เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันยังยากที่จะทำค่าแรม CL ต่ำให้ได้ในความเร็วที่สูง ๆ ฉะนั้นปกติคือควรเลือกแบบต่ำ ๆ เช่น 9 ขึ้นต้นไว้ก็จะดีกว่า 10 หรือ 11
ยี่ห้อของแรมนั้นจะว่ากันจริง ๆ ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก โดยปัจจุบันยี่ห้อที่เราพบเห็นกันเยอะที่สุดคงหนีไม่พ้น Kingston ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นซีรี่ส์ HyperX ทั้งหมดแล้ว และมีหลายความเร็วหลายขนาดให้เลือก ยี่ห้ออื่น ๆ ก็ได้แก่ G.Skill, Team Group, ADATA, Corsair เป็นต้น ยี่ห้อเหล่านี้ถือว่าไว้ใจได้และมีความแตกต่างกันไม่มากนักหากนำมาใช้งานปกติ เว้นแต่บางซีรี่ส์ที่เน้นออกแบบมาเพื่อการโอเวอร์คล็อค (overclock)
หากเป็นไปได้ควรซื้อแรมแบบขายมาเป็นคู่ เช่น 4 GB สองแท่งในกล่องเดียว (4 GB x 2 = 8 GB) หรือ 8 GB สองแท่งในกล่องเดียว (8 GB x 2 = 16 GB) เพราะแรมนั้นหากต้องการใช้งานแบบ Dual Channel แล้วต้องใส่เป็นคู่พร้อมกัน และแรมที่ขายคู่กันเช่นนี้มีการทดสอบมาแล้วว่าใช้งานร่วมกันจะไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน สำหรับมาตรฐานปัจจุบันการใช้งานต่ำ ๆ ควรอยู่ที่ 8 GB แล้ว (4 GB x 2) หากใช้งานหนักหน่วงกว่านั้นเช่นการตัดต่อวิดีโอหรือทำงานกราฟิก การใช้งานสัก 16 GB ก็เป็นตัวเลือกที่ดีหากงบคุณนั้นเอื้ออำนวย เพราะโปรแกรมเหล่านี้มักกินแรมสูงมากในขณะที่คุณทำการเรนเดอร์ไฟล์หรือวิดีโอหรือทำงานเป็นเวลานาน
ฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk)
สื่อเก็บข้อมูลหลักในคอมพิวเตอร์ของเรา ปัจจุบันมีสองแบบคือ HDD (Hard Disk Drive) ซึ่งเป็นแบบจานหมุนใช้หัวอ่าน แบบที่เรารู้จักกันดี และล่าสุดที่กำลังนิยมใช้กันคือ SSD (Solid State Drive) ที่เก็บข้อมูลลงชิปหน่วยความจำ
HDD ปัจจุบันครองตลาดอยู่สองยี่ห้อคือ Seagate และ Western Digital (WD) ซึ่งยี่ห้อ Seagate ไม่ได้มีการซอยรุ่นสำหรับผู้ใช้งานตามบ้านมากมายนัก (ส่วนใหญ่เป็น Baracuda ทั้งสิ้น) แต่อีกยี่ห้อคือ Western Digital มีการแบ่งรุ่นออกเป็นสี ๆ ได้แก่รุ่น Green, Blue, Black และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีเพิ่มมาอีกให้ได้งงกันเพิ่มคือ Red, Purple เรียกได้ว่ามีห้าสีกันเข้าไปแล้ว
สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปแบบเรา ๆ จะใช้งานกันส่วนใหญ่แค่สามสีแรกคือ Green, Blue, Black ซึ่งเรียงตามประสิทธิภาพโดย Green เป็นฮาร์ดดิสก์ที่เหมาะแก่การเก็บข้อมูลสำรองไว้ (เช่นการใช้งานแบบ External) และไม่ได้เรียกใช้งานบ่อย ๆ เนื่องจากประสิทธิภาพนั้นไม่ได้รวดเร็วทันใจมากนัก ส่วน Blue เป็นรุ่นระหว่าง Green, Black ที่เน้นประสิทธิภาพขึ้นมานิดหน่อย แต่ก็ยังประหยัดไฟอยู่ ส่วน Black เป็นรุ่นบนสุดที่เน้นความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูล และแน่นอนว่ากินไฟมากที่สุดในสามสีนี้และเหมาะสำหรับการเก็บข้อมูลที่คุณคาดหวังเรื่องความเร็ว เช่นเก็บเกม หรือไฟล์วิดีโอสำหรับใช้ในงานตัดต่อ
ส่วนอีกสองสีคือ Red, Purple เป็นรุ่นสำหรับใช้งานบนเครื่องเก็บข้อมูลเช่น NAS หรือเครื่องบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดหรือทีวี เป็นต้น
ส่วนฮาร์ดดิสก์อีกแบบคือ SSD (Solid State Drive) เป็นการเก็บข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งจะเก็บลงชิปหน่วยความจำแทนที่จะลงบนจานแผ่นแม่เหล็กแบบปกติ ข้อดีที่สุดของ SSD คือความเร็วที่สูงมากรวมถึงมี Access Time ที่ต่ำ ทำงานกับไฟล์จำนวนมากทั้งการเขียนและอ่านได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาต่อ GB ที่แพงกว่าฮาร์ดดิสก์แบบเดิม ๆ มาก
SSD ปัจจุบันราคาไม่ได้แพงมากแล้ว สามารถหาซื้อความจุขนาด 120 GB มาใช้งานกันได้ในราคาเพียงแค่ไม่ถึงสี่พันบาท เหมาะมากที่จะใช้งานกับเพื่อลงเป็นไดรฟ์เพื่อใช้งานหลักอย่างไดรฟ์ C: (ซึ่งมีระบบปฏิบัติการอยู่) SSD จะทำให้เครื่องคุณบูทเข้าสู่หน้าจอวินโดวส์เพื่อใช้งานได้อย่างรวดเร็วแบบชนิดที่ฮาร์ดดิสก์ปกติไม่สามารถทำได้
นอกจากสเปคเรื่องความจุแล้ว ยังมีอัตราการเขียนและอ่านที่ควรเลือกให้มากเข้าไว้จะเป็นเรื่องดี และอีกค่าหนึ่งคือ IOPS (Input/Output Operations Per Second) ที่ยิ่งเยอะก็ยิ่งดีเช่นเดียวกัน ส่วนยี่ห้อในตลาดนั้นก็มีหลากหลายยี่ห้อและหลายระดับให้เลือกใช้ โดยรุ่นบน ๆ จะมีความเร็วที่สูงกว่าด้วยการใช้ประเภทชิปหรือการเพิ่มแคช (Cache) ให้มากกว่ารุ่นล่าง ๆ ยี่ห้อที่นิยมกันมากสำหรับผู้ใช้งานระดับบน ๆ คือ Samsung, Intel ส่วนที่เหลือจะเป็นสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปเช่น Plextor, Crucial, Lite-On เป็นต้น (ยี่ห้อเหล่านี้ก็มีรุ่นบน ๆ เช่นเดียวกันแต่ไม่ได้นิยมเท่ากับสองยี่ห้อข้างต้น)
การ์ดจอ (Display Card)
หากคุณไม่ได้อยากใช้ชิปออนบอร์ดเพื่อแสดงผลแล้ว ก็ขาดการ์ดจอไปไม่ได้ ปัจจุบันมียี่ห้อที่ครองตลาดเพียง 2 ยี่ห้อคือ AMD และ Nvidia ผ่านซีรี่ส์อย่าง Radeon, GeForce การ์ดจอมีการออกรุ่นใหม่ทุกปีหรือปีครึ่ง ประสิทธิภาพก็แยกออกไปตามราคาที่คุณจะจ่ายไหวตั้งแต่ตัวละสามพันยันสามหมื่น
การ์ดจอในระดับบนของ AMD และ Nvidia ในขณะนี้ได้แก่
– Geforce GTX 980, 970
– AMD Radeon R9 290X, 280X
– Update ล่าสุดปี 2559 คือ AMD Radeon R9 Fury และ Nvidia Geforce 980Ti
ระดับกลาง
– GeForce GTX 960, AMD Radeon R9 270X
และระดับล่างคือ GTX 750, R7 250 ลงไป
จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพของแต่ละระดับนั้นจะไล่เลขจากต่ำไปหาสูงทั้งสองค่าย โดยการ์ดระดับล่าง ๆ ก็จะเน้นการทำงานแบบเบา ๆ หรือเล่นเกมที่ไม่ได้กินสเปคมากมายนักเช่นเกมออนไลน์ ส่วนการ์ดระดับกลางถึงสูงนั้นจะมีประสิทธิภาพที่สูง สามารถปรับกราฟิกได้สวยงามมากกว่าและเหมาะกับการทำงานที่ใช้การประมวลผลจาก gpu มาก ๆ เช่นงานตัดต่อวิดีโอหรือปั้นโมเดล (มีซีรี่ส์การ์ดอย่าง Quadro, Firepro ซึ่งออกแบบมาเพื่องานด้านนี้โดยเฉพาะด้วย)
แน่นอนว่าหากซีพียูที่คุณใช้หรือเลือกนั้นมีประสิทธิภาพมากพอ จะสามารถขับพลังของการ์ดจอออกมาได้เต็มที่มากกว่าการเลือกใช้ซีพียูที่ประสิทธิภาพต่ำกว่าปกติ การจัดสเปคไม่สมดุลย์นั้นหากคุณนำไปเล่นเกมอาจพบกับอาการสะดุดแบบไร้สาเหตุ หรืออาจจะได้เฟรมเรตที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่การ์ดตัวนั้นจะได้รับ
จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมหากใช้ซีพียูดี ๆ แต่การ์ดจอระดับกลางถึงล่างก็ยังถือว่าเล่นเกมได้ค่อนข้างดีและคาดเดาผลลัพธ์ได้ดีกว่าการใช้การ์ดจอราคาแพง จะอัพเกรดเครื่องพีซีเพื่อมาเล่นเกมจะมองแต่การ์ดจอเพียงอย่างเดียวไม่ได้ หากส่วนประกอบที่เหลือมันไปด้วยกันลำบากก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน
ตัวจ่ายไฟ (Power Supply)
คอมพิวเตอร์ทั้งเครื่องจะใช้งานได้ยาวนานและมั่นใจได้ขนาดไหน คงมองข้ามตัวนี้ไปไม่ได้เลย ผมว่า Power Supply เป็นส่วนประกอบที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไปเยอะมากจริง ๆ และยังมีข้อถกเถียงกันเยอะมากว่าควรใช้ยี่ห้อไหน และกี่วัตต์กันไม่รู้จักจบสิ้น
ปัจจุบัน PSU จะมีสองแบบคือถอดสายได้ (Modular) และถอดสายไม่ได้ (Non Modular) แบบถอดสายได้ความได้เปรียบที่สุดคือเสียบเฉพาะสายที่ใช้งาน ทำให้ภายในคอมพิวเตอร์ของคุณเป็นระเบียบมากกว่าเนื่องจากจัดสายได้ง่ายนั่นเอง มันไม่ง่ายเลยที่จะจัดสายเยอะ ๆ ภายในเคสตัวเล็กนิดเดียว
ยี่ห้อที่เชื่อมั่นใจได้ซึ่งขายในบ้านเราก็ได้แก่ Corsair, Enermax, Silverstone, Seasonic ยี่ห้อเหล่านี้ถือว่าเป็นยี่ห้อที่ไว้ใจได้และทำรุ่นตั้งแต่แบบถอดสายไม่ได้ จนไปถึงแบบถอดสายได้ทุกเส้น (Full Modular)
ส่วนยี่ห้ออื่น ๆ นอกจากนี้ควรเลือกแบบวัตต์แท้ไว้ก่อนจะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าให้แนะนำผมว่าควรใช้ยี่ห้อด้านบนดีกว่า ของแบบนี้พังไปทีนึงงานอาจจะเข้ากันได้ง่าย ๆ เพราะบางครั้งมันไม่ได้พังแค่ตัวเดียว แต่ไฟจะกระชากเอาชีวิตอุปกรณ์อื่น ๆ ของคุณไปด้วย เช่น ฮาร์ดดิสก์หรือการ์ดจอ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการจ่ายไฟแบบ Single Rail ซึ่งเหมาะกับการใช้งานแบบใช้ไฟเยอะ ๆ เช่นต่อการ์ดจอหลายตัวพร้อมกันในรูปแบบ SLI หรือ Crossfire เป็นไปได้ก็ควรเลือกแบบ Single Rail (ซึงรุ่นกลางถึงบน ปกติมักจะเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว)
ยังมีตัวกำกับอีกตัวคือพวก 80 Plus Bronze, Gold, Platinum, Titanium พวกนี้เป็นมาตรฐานบ่งบอกว่าตัวจ่ายไฟนั้นมีประสิทธิภาพดีแค่ไหน เช่น 80 Plus Bronze การันตีว่าจ่ายไฟได้ในประสิทธิภาพ 80% ส่วน Titanium นั้นประสิทธิภาพสูงสุดถึง 96% ส่วนตัวแล้วผมว่าไม่ได้มีความแตกต่างอะไรกันมากนักระหว่าง 80 Plus Bronze ไปจนถึง Titanium ในเรื่องของค่าไฟที่คุณใช้งานจริง ๆ เพราะ 10 หรือ 15% ที่ว่านี้คือการใช้งานแบบต้องมีโหลดพอสมควรคือ 50-100% แน่นอนว่าหากคุณใช้ตัวจ่ายไฟที่มีมาตรฐาน 80 Plus อาจจะช่วยลดค่าไฟของคุณได้บ้างหากเทียบกับตัวจ่ายไฟแบบ no name แต่ก็ไม่ได้คุ้มค่าอะไรมากที่จะต้องไปเล่นถึงระดับ Platinum หรือ Titanium
ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ Watt (W) หรือกำลังจ่ายไฟนั่นเอง เรื่องนี้หากจะลงอย่างละเอียดต้องว่ากันยาวพอสมควร เนื่องจากต้องนำชิ้นส่วนทุกชิ้นมาคำนวณกำลังไฟที่เหมาะสม แต่สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปแล้วจากประสบการณ์ส่วนตัว ยากมากที่จะใช้งานไฟถึง 500W ในการใช้งานจริงแบบการ์ดจอตัวเดียว (และเป็นการ์ดระดับกลางค่อนไปทางสูงด้วย) ส่วนที่กินไฟมากที่สุดในคอมพิวเตอร์คือการ์ดจอ โดยรุ่นบนสุดอาจกินไฟได้สูงสุดถึงตัวละ 250W หากต่อกันหลายตัวจำเป็นต้องใช้ตัวจ่ายไฟที่จ่ายได้มากกว่า 1000W ขึ้นไป
แต่ส่วนใหญ่แล้วเลือกใช้สัก 500W หรือ 600W นี่ก็เหลือเฟือแล้วจริง ๆ ครับ เครื่องผมเองใช้ Radeon 7990 สองตัว (4 GPU) ซึ่งถือว่าเป็น GPU ตัวนึงที่กินไฟมากที่สุด ใช้ตัวจ่ายไฟ 1200W ถึงจะเอาอยู่ครับ ฉะนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ปกติทั่วไป 600W นี่ผมถือว่าสบาย ๆ แต่หากมีเงินเหลืออยากเพิ่มไปมากกว่านี้ก็ตามสะดวกไม่ได้ผิดกติกาแต่อย่างใด
จอแสดงผล (Monitor)
จอนั้นปัจจุบันมีหลายแบบโดยแยกตามคุูณภาพของวัสดุภายนอก ภายใน และการเชื่อมต่อ โดยจอมอนิเตอร์นั้นปัจจุบันถ้าให้แนะนำคือควรจะใช้งานสัก 20 นิ้วเป็นอย่างต่ำ และความละเอียดระดับ Full HD (1920 x 1080) เพื่อที่จะรองรับการดูหนังฟังเพลงในยุคนี้แบบเต็มที่ โดยรายละเอียดเรื่องการเลือกซื้อจอนั้นสามารถ
เข้าไปดูได้อีกบทความซึ่งผมเขียนไว้นานแล้วพอสมควร (แต่ก็ยังถือว่าใช้งานได้อยู่นะ)
เคส (Case)
เคสคอมพิวเตอร์ก็คือตัวถังมีหน้าที่ทำให้อุปกรณ์ทุกอย่างอยู่กับเป็นกลุ่มเป็นก้อน รวมถึงจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบ หลักการเลือกเคสคอมพิวเตอร์นั้นไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนนัก นอกจากหน้าตาและจำนวนช่องที่มีให้แล้ว สิ่งที่ควรพิจารณาคือ Form Factor ที่ควรเลือกให้เข้ากับเมนบอร์ด เช่นหากเมนบอร์ดของคุณเป็นแบบ ATX (ซึ่งเป็นเมนบอร์ดที่ใหญ่ที่สุด) ก็ควรเลือกเคสที่รองรับเมนบอร์ดชนิดนี้ด้วย โดยหากคุณเลือกเคสที่รองรับแบบ ATX แล้วจะสามารถใส่กับบอร์ดที่เล็กกว่านี้ได้เช่นเดียวกัน (mATX) แต่ข้อเสียของเคสที่รองรับ ATX คือจะมีรูปร่างที่ค่อนข้างใหญ่กว่าเคสที่รองรับสูงสุดแค่ mATX ซึ่งหลายคนจะชอบหรือไม่นั้นก็แล้วแต่ละบุคคล
นอกจากนี้ยังมีแพลทฟอร์มที่มีขนาดเล็กจิ๋วคือ ITX ซึ่งเหมาะกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กมาก ๆ เช่นเอาไว้ใช้งานเป็น Home Theater PC (HTPC) เป็นต้น ซึ่งต้องใช้เคสแบบ ITX และเมนบอร์ดแบบ ITX ด้วยเช่นเดียวกัน
กลับมาดูที่แพลทฟอร์ม ATX หากเรียงตามความสูงของเคสจะแบ่งได้เป็น Full Tower, Mid Tower, Mini Tower โดย Full Tower นั้นถือว่าเป็นเคสที่มีความสูงมากที่สุดโดยอาจสูงได้มากกว่า 60CM พร้อมมีช่องสำหรับใส่ไดรฟ์ด้านหน้ามากมาย เหมาะสำหรับการใช้งานเป็น Server เพื่อวางไว้บนพื้น เคสทั่วไปที่เราใช้กันตามบ้านส่วนใหญ่จะเป็น Mid Tower ที่มีช่องสำหรับใส่ไดรฟ์ประมาณสี่ถึงห้าช่อง หรือ Mini Tower ที่มีขนาดเล็กที่สุด
ส่วนของราคานั้นมีตั้งแต่ไม่ถึงหนึ่งพันบาท ยันไปถึงหลายหมื่นบาทก็มี โดยมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่ ยี่ห้อ ความเนี๊ยบของงาน รุ่น ลูกเล่นพิเศษเช่น ฝาข้างใส โดยเคสที่เป็นเหล็กนั้นจะเป็นเคสที่มีน้ำหนักค่อนข้างมากและไม่สะดวกแก่การเคลื่อนย้าย แต่ก็มีข้อดีตรงราคาไม่แพง ส่วนตัวถังแบบอลูมิเนียมนั้นจะมีราคาสูงกว่ามากในขนาดเดียวกัน แต่มีน้ำหนักเบาและไม่ขึ้นสนิม
โดยเคสนั้นถือว่าเป็นหน้าตาของคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานอยู่แทบทุกวัน ฉะนั้นหลายคนอาจเลือกด้วยเรื่องของหน้าตาและลูกเล่นเป็นหลัก ซึ่งหากคุณเน้นการแต่งคอมเพื่อความสวยงามแล้วละก็จะมีของแต่งจำนวนมากเข้ามาให้คุณได้เสียเงินกัน แต่หากใช้งานปกติแล้วเคสในราคาไม่เกิน 2,000 บาทก็ถือว่าเหมาะสม และสวยงามพอประมาณแล้ว ยี่ห้อชั้นนำในท้องตลาดก็ได้แก่ Corsair, Cooler Master, Thermaltake, NZXT, Silverstone, Zalman เป็นต้น